Sunday, 28 April 2024
อรุณรัตน์ เปรมสิริอำไพ (ยีนส์)

'ไต้หวัน' เตรียมรื้อถอน อนุสาวรีย์ 'เจียง ไคเชก' ทั่วประเทศ หวังล้างภาพลักษณ์เผด็จการ ยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาว

รัฐบาลไต้หวันประกาศที่จะรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก ประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวัน ที่มีอยู่ถึง 760 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงอนุสรณ์สถานใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงไทเปด้วย ท่ามกลางการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานถึงภาพลักษณ์ 2 ขั้วอันย้อนแย้งว่า เจียง ไคเชก เคยเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำที่ต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และ ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน-โซเวียต จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในเวลาต่อมา 

แต่ในอีกแง่หนึ่งเขาก็เป็นผู้นำเผด็จการทหาร ที่ปกครองไต้หวันด้วยกฏอัยการศึกยาวนานถึง 38 ปี โดยที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มต่อต้านอย่างโหดเหี้ยมตลอดระยะเวลาที่ครองอำนาจในไต้หวัน

แม้จะถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งไต้หวัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวไต้หวันรุ่นใหม่รู้สึกไม่สบายใจกับการมีอยู่ของอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จนทำให้ไต้หวันถูกมองว่าเป็นเกาะแห่งอนุสรณ์สถานของ เจียง ไคเชก และเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำคนสำคัญออกไป 

จนเมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสอบสวนเรื่องราว และหลักฐาน การปกครองในช่วงสมัยของ เจียง ไคเชก ตั้งแต่เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง จนถึงปีที่เขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 2518 

และหนึ่งในข้อเสนอคือ การรื้อถอนรูปปั้นนับพันของเจียง ไคเชก จากทุกพื้นที่สาธารณะของไต้หวัน และในวันที่ 22 เม.ย.67 สภาไต้หวันก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่าจะเร่งรื้อถอนอนุสาวรีย์ที่ยังเหลืออยู่อีก 760 แห่ง ออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ของประชาชนว่าดำเนินการช้าเกินไป 

ส่วนรูปปั้นที่ใหญ่ที่สุดของ เจียง ไคเชก ตั้งอยู่ที่ อนุสรณ์สถานใจกลางกรุงไทเป ที่เป็นเหมือนจุดไฮไลต์ของนักท่องเที่ยว มีแผนที่จะย้ายไปตั้งไปรวมกันในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงไทเป ที่จะเก็บรวบรวมรูปปั้น เจียง ไคเชก ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วนับพันมาไว้รวมกัน

ทั้งนี้ การถอดถอนอนุสาวรีย์ของ เจียง ไคเชก เคยเป็นประเด็นถกเดือดในสภาไต้หวันอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันเป็นฝ่ายรัฐบาลมีความเห็นว่า ไต้หวันควรถอยห่างจากประเพณีการไว้อาลัยอดีตผู้นำผู้ก่อตั้งไต้หวันได้แล้ว เพราะ เจียง ไคเชก มีภาพลักษณ์ผู้นำเผด็จการทหาร ที่ใช้อำนาจปกครองไต้หวันมานานถึง 46 ปี

แต่ฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งของอดีตผู้นำ เจียง ไคเชก ที่เป็นฝ่ายค้าน ตอบโต้ว่า ชาวไต้หวันก็ไม่ควรลืมเกียรติยศต่าง ๆ ที่ เจียง ไคเชก เคยทำไว้ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อรวมชาติจีนให้กลับมาเป็นปึกแผ่น และการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแผ่อิทธิพลเหนือเกาะไต้หวัน การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงไม่ต่างจากความพยายามลบประวัติศาสตร์อันเป็นรากเหง้าของชาวไต้หวัน

สำหรับ เจียง ไคเชก เป็นทั้งนักการเมืองฝ่ายชาตินิยม และผู้นำทหารที่เคยร่วมคณะปฏิวัติของ ด็อกเตอร์ ซุน ยัตเซ็น ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ และยังเป็นผู้นำทัพต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงหลังความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น เจียง ไคเชก กลับต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมือง กับกองกำลังฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง และสุดท้ายเขาพ่ายแพ้ เจียง ไคเชก ตัดสินใจพาคณะรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง มาสถาปนาสาธารณรัฐจีนพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 

หลังจากนั้น เจียง ไคเช็ก ใช้กฏอัยการศึกปกครองไต้หวัน ที่มีการปราบปรามศัตรูทางการเมือง และผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม จนถูกยกให้เป็นยุคแห่งความน่าสะพรึงสีขาวของไต้หวัน (白色恐怖) ซึ่งช่วงเวลาของการใช้กฎอัยการศึกในไต้หวันกินเวลานานถึง 38 ปี ที่มีผู้คนมากถึง 140,000 คนถูกจำคุก และเกือบ 4,000 คนถูกประหารชีวิตจากข้อหาต่อต้านรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ของ เจียง ไคเชก

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวไต้หวันบางส่วนก็มองว่า เจียง ไคเชก ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานระบบการเมืองที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

ดังนั้น เกียรติยศของ เจียง ไคเชก จึงเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ในมุมมองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม มองว่าเรื่องราวที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ ที่ชาวไต้หวันไม่สามารถเลือกที่จะลบทิ้งด้านใด ด้านหนึ่งได้ แต่ในส่วนของฝ่ายเสรีนิยมก็มองว่า ไต้หวันก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นั้นมานานแล้ว และสัญลักษณ์ของการบูชาเผด็จการอำนาจนิยม ก็ไม่ควรเป็นมรดกที่สืบทอดให้กับคนรุ่นลูก 

แต่เมื่อวันนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่พรรคก๊กมินตั๋ง การรื้อถอนอนุสาวรีย์ เจียง ไคเชก จึงต้องดำเนินต่อไป เพราะเชื่อว่าไต้หวันยุคใหม่ควรก้าวไปข้างหน้าบนพื้นฐานอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องทิ้ง เจียง ไคเชก อดีตผู้นำเผด็จการทหารผู้ที่เคยสร้างชาติไว้ข้างหลัง 

'นักพี้เยอรมัน' เฮสนั่น!! รัฐบาลผ่านกฎหมายกัญชาเสรี 'ปลูก-เสพ' ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ชี้!! ปลอดภัยกว่าก๊งเหล้า

นักพี้ชาวเยอรมันหลายพันคนเฮสนั่น เมื่อรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายกัญชาถูกกฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และได้มารวมตัวสูบกัญชาฉลองชัยกันอย่างเอร็ดอร่อยที่หน้าประตูบรันเดินบวร์ค สถานที่ไอคอนที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเบอร์ลิน

ตำรวจเบอร์ลินประเมินว่า มีผู้มาร่วมงานบริเวณหน้าประตูบรันเดินบวร์ก ราว 4,000 คน เพื่อมาสูบกัญชา ณ ใจกลางเมืองหลวงร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม 'Smoke-In' เพื่อฉลองชัยที่สามารถผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายในเยอรมัน ซึ่งนอกจากจะนัดมาสูบกัญชาร่วมกันแล้ว ยังมีงานแสดงคอนเสิร์ต และการกล่าวปราศรัยของนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งด้วย

ในความเห็นของผู้ที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มองว่า การเสพกัญชา เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการดื่มสุราหลายเท่า โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราเกินขนาด หรือ คดีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการดื่มสุรา ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนคนที่สูบกัญชา จึงมีผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยชูป้ายว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการดื่ม’ หากมีกัญชาเป็นตัวเลือกในวงปาร์ตี้ สันทนาการ ที่ดีกว่า

จากร่างกฎหมายใหม่นี้ ชาวเยอรมันมีสิทธิ์ครอบครองกัญชาสดได้ไม่เกิน 25 กรัม หรือในรูปกัญชาตากแห้งไม่เกิน 50 กรัมต่อคน และสามารถปลูกเองที่บ้านได้ไม่เกิน 3 ต้น แต่ต้องอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะในเยอรมัน หรือ 18 ปีขึ้นไป  

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการเสพคือ ห้ามสูบบนทางเท้า และบริเวณใกล้โรงเรียน หรือ สนามเด็กเล่นในช่วงกลางวัน และยังห้ามสูบกัญชาในบริเวณสถานีรถไฟทั่วประเทศ เพื่อปกป้องผู้โดยสารคนอื่น โดยเฉพาะ เด็ก และเยาวชน ที่สัญจรโดยรถไฟ 

แต่ถึงแม้จะมีชาติตะวันตกอย่างเยอรมัน แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และ หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่รับรองการสูบกัญชาอย่างถูกกฎหมาย แต่การใช้กัญชายังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ว่า อาจนำไปสู่การเสพสารเสพติดที่มีฤทธิ์ร้ายแรงยิ่งขึ้น อาทิ โคเคน หรือ เฮโรอีน หรือไม่ 

ด้าน ดร.สเตฟาน ทอนเนส หัวหน้าแผนกพิษวิทยาทางนิติเวชที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ติดยาในเยอรมันพบว่า ผู้ที่ติดเฮโรอีน มักใช้เสพสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ที่เสพกัญชาจำนวนน้อยมากที่จะขยับขึ้นในเสพเฮโรอีน แม้จะมีความเชื่อมโยงระหว่างการเสพกัญชา ที่จะกระตุ้นความต้องการในการเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆได้ในอนาคต แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่สามารถระบุว่าเป็นสาเหตุโดยตรงของการติดสารเสพติด อย่างโคเคน หรือ เฮโรอีนได้

เช่นเดียวกันกับการสำรวจข้อมูผลกระทบของกัญชาต่อสุขภาพ และการทำลายสมอง หรือคำกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกเสพกัญชา มีอันตรายน้อยกว่าการดื่มเหล้า ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยมายืนยันได้อย่างชัดเจนถึงข้อสรุปเหล่านี้ เพราะทั้งสุรา และกัญชา ต่างมีสารที่เป็นอันตรายในตัวเอง และมีฤทธิ์ถึงตายได้เหมือนกันขึ้นอยู่กับปริมาณการเสพ  

ดังนั้น รัฐบาลเยอรมันจึงยกให้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคล หากเป็นผู้ใหญ่แล้ว เลือกที่จะเสพกัญชา ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย หากสูบในพื้นที่ ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าเสพหนักจนไปก่ออาชญากรรม หรือ กลายเป็นผลเสียต่อร่างกายก็เป็นเรื่องของกรรมต่างวาระ ที่ผู้เสพต้องรับผิดชอบในทุกๆการกระทำของตนเอง 

เพราะฉะนั้น นักพี้ก็ต้องเสพอย่างมีสติ แต่เกรงว่าจะมีสติได้แค่มวนแรก มวนต่อ ๆ ไป สติสตังชักไม่รู้ว่าทิ้งไว้ตรงไหนแล้วนะซี 

'จีน' สั่งกวาดล้างเหล่าอินฟลูฯ 'สร้างข่าวลือ-ปั่นคอนเทนต์ลวง' ลั่น!! โลกโซเชียลไม่อยู่เหนือกฎหมาย ทำผิด ก็มีสิทธิติดคุก

รัฐบาลมณฑลหังโจว ประเทศจีนจัดหนัก สั่งแบนอินฟลูเอ็นเซอร์สาว ดาวโซเชียลคนดัง 'สู เจียอี๋' ผู้ใช้ชื่อบัญชีในโลกออนไลน์ว่า 'Thurman Maoyibei' ที่มีผู้ติดตามถึง 40 ล้านคน แต่ตอนนี้ถูกแบนจากทุกแพลตฟอร์มโซเชียลที่เธอใช้ ทั้ง Tiktok, Weibo และ Wechat ด้วยความผิดฐาน 'สร้างความปั่นป่วนในสังคม' และมีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีได้ทั้งจำและปรับ 

'สู เจียอี๋' หรือ 'Thurman Maoyibei' เป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชัน ความงาม และไลฟ์สไตล์คนดังใน Douyin หรือ Tiktok ของจีน ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก 

แต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ เธอได้โพสต์คลิปขณะกำลังเที่ยวในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่ามีบริกรเข้ามาทัก บอกว่าพบสมุดการบ้าน 2 เล่มที่น่าจะเป็นของเด็กจีน ลืมไว้ในห้องน้ำที่ร้าน อยากให้ตามหาเจ้าของเพราะเห็นว่าเธอเป็นคนจีนเหมือนกัน

จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นภารกิจตามหาเจ้าของการบ้านของ Thurman Maoyibei เมื่อเธอไลฟ์ผ่านโซเชียลที่มีผู้ติดตาม 40 ล้านคน ตามหา 'ชิน หลาง' ชั้น ป.1 ห้อง 8 ที่ปรากฏชื่อบนสมุดการบ้านที่ลืมไกลถึงกรุงปารีสให้มารับสมุดคืนได้ที่เธอ จนกลายเป็นไวรัลอย่างกว้างขวาง และมีผู้แอบอ้างว่าเป็นญาติ หรือ คนรู้จัก ชิน หลาง มากมายในโลกโซเชียลจีน

หลังจากผ่านไปไม่นาน มีการตรวจสอบข้อมูลจากด่านตรวจคนเข้าเมืองของจีน ย้อนไปถึงช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ก็ไม่พบว่ามีเด็กในช่วงวัยประถมที่ชื่อ ชิน หลาง เดินทางไปต่างประเทศแต่อย่างใด 

และคดีก็พลิกทันที จน สู เจียอี๋ ต้องออกมายอมรับว่าเธอกุเรื่อง ชิน หลาง ขึ้นมา เพื่อสร้างคอนเทนด์ในช่องของเธอ โดยสมุดการบ้านนี้เธอซื้อมาทางออนไลน์ และมี 'เสว่' เพื่อนร่วมทีมอีกคนเขียนบทเรื่องราวการบ้านหายในฝรั่งเศสให้ และช่วยกันปั่นให้เกิดกระแสทั้งใน Douyin และ Weibo จนมียอดแชร์นับล้านวิว

หลังความแตก สู เจียอี๋ ออกมากล่าวขอโทษสังคมผ่านทางโซเชียล ด้วยความ 'รู้เท่าไม่ถึงการณ์' แค่ต้องการเพียงสร้างกระแสให้ช่องทางออนไลน์ของเธอเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่น ซึ่งเธอสำนึกแล้ว ต้องการให้การกระทำของเธอเป็นกรณีตัวอย่าง และต่อไปเธอสัญญาว่าจะทำแต่คอนเทนด์เพื่อสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ

แต่ไม่ทันแล้ว เพราะวันนี้รัฐบาลหังโจวได้สั่งแบนบัญชีออนไลน์ของ สู เจียอี๋ ในทุกแพลตฟอร์ม สูญเสียผู้ติดตามหลายสิบล้านในพริบตา และมีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีในข้อหาสร้างความปั่นป่วนในสังคมด้วย

คดีของ สู เจียอี๋ เป็นอีกหนึ่งในหลายหมื่นคดี ที่กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้ออกมาประกาศจะกวาดล้างเหล่าบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่กุข่าวเท็จ ปั่นข่าวลือ เพื่อดึงกระแสให้ช่องทางออนไลน์ของตัวเอง และถือเป็นภัยสังคมอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ใช่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ตาม

และตั้งแต่ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา มีการจับปรับเจ้ากรมข่าวลือที่ปล่อยข่าวเท็จในเน็ตไปแล้วมากกว่า 10,000 ราย และถูกจำคุกอีกกว่า 1,500 ราย 

รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะย้ำว่า โลกโซเชียลไม่ใช้พื้นที่ที่อยู่นอกกฏหมาย ชาวเน็ตจีนจึงควรตระหนักถึงกฏ ระเบียบ ในการใช้คำพูด หรือแสดงพฤติกรรมในโซเชียลให้จงหนัก เพราะรัฐบาลตามจับได้ และปรับจริง ติดคุกจริง แน่นอน

ส่วนชาวโซเชียล จำเป็นต้องมีสติในการเสพข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ ควรเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์ จะได้ไม่เจ็บใจทีหลัง

‘ตลาดแรงงานมาเลฯ’ ให้ความสำคัญทักษะด้านภาษา มากกว่าใบปริญญา ยิ่งสื่อสาร ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น-อารบิก’ ได้ดี ยิ่งมีโอกาสหางานได้มากกว่า

ตลาดแรงงานมาเลฯ เริ่มมองหา ‘คนทำงานรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะ ขยันเรียนรู้ มากกว่าใบเกรด และหากยิ่งรู้ภาษาจีน ก็ยิ่งได้เปรียบ

สมัยก่อน อาจจะกล่าวได้ว่า มีใบปริญญา สามารถการันตีโอกาสในการหางานที่ดีกว่าได้ ยิ่งเป็นใบปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น 

แต่ในยุคสมัยใหม่ที่กระแสค่านิยมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก จนความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อนายจ้างเริ่มพิจารณาคนทำงานที่มีคุณสมบัติอื่น ๆ มากกว่า โดยเฉพาะ ทักษะประสบการณ์ทำงานจริง, ความรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน 

วิค สิทธสนาน ผู้อำนวยการของ Jobstreet by Seek Malaysia แสดงความเห็นว่า การพัฒนาด้านอาชีพกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้ยกรายงานจาก Hiring Compensation and Benefits Report for 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีนายจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เน้นคัดเลือกบุคลากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ หรือ หลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามทักษะที่นายจ้างต้องการ มากกว่าใบปริญญาแล้ว 

แม้การพิจารณาคัดเลือกพนักงานจากวุฒิการศึกษายังคงมีอยู่ แต่ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อนายจ้างยุคใหม่ต้องการคนที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางที่ตรงกับสายงานมากกว่า และจำเป็นต้องนำมาใช้งานได้จริงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเว็บไซท์ที่ให้บริการรับสมัคร, จัดหางานอันดับ 1 ในมาเลเซีย ยังเน้นอีกว่า ‘ภาษาอังกฤษ’ มีความสำคัญ แต่ยังไม่พอ 

เนื่องจากมาเลเซียมีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทางจีนอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนจึงพุ่งสูงขึ้นในตลาดแรงงานมาเลเซีย โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ที่หลายบริษัทระบุเลยว่าต้องการผู้ที่พูดภาษาจีน หรือสามารถพูดได้หลายภาษา

ความเห็นของผู้บริหาร Jobstreet สอดคล้องกับ ดาตุ๊ก ดร.ซาอีด ฮัซเซน ซาอีด ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ที่ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นายจ้างสนใจผู้สมัครที่จบวุฒิสายอาชีพ (TVET) มากกว่า เพราะมีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ในการทำงานจริงได้โดยตรง โดยนายจ้างก็มีแนวโน้มประเมินผู้สมัครแบบองค์รวมมากขึ้น

และถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษยังอยู่ในห้าอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ดร.ซาอีด ฮัซเซนเห็นเช่นเดียวกับ วิค สิทธสนาน ว่าทักษะภาษาจีนกลางเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน 

ซึ่งนอกจากภาษาจีนแล้ว ผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อารบิก ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จึงมองหาบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมี ‘ความรู้’ แบบใดมาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการมองหาคือ ‘ทักษะ’ ที่หมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านงานช่าง งานเทคนิค ฯลฯ รวมถึงเข้าใจในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาจากใบปริญญาได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองที่หน้างานเท่านั้น 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง 
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

แค่ปริญญา ไม่พอจริง ๆ”

Chevron โอนหุ้นโครงการท่อก๊าซยาดานาให้ ปตท.ก่อนถอนตัวออกจากพม่า ส่ง ปตท.ผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96%

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.67) Chevron บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวออกจากโครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาในประเทศพม่าแล้ว หลังจากที่บริษัทแสดงจุดยืนประณามความรุนแรง และ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามานานกว่า 2 ปี

โดยสัดส่วนหุ้นของ Chevron จำนวน 41.1% จะถูกโอนไปให้กับผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ในโครงการนี้ ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ และวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา หรือ MOGE ที่ตอนนี้อยู่ภายในการดูแลของรัฐบาลทหารพม่า 

และจากการจัดสรรหุ้นใหม่หลังจากที่ Chevron ถอนตัวไป จะทำให้ ปตท. กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการยาดานาไปในทันที ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96% 

โฆษกของ Chevron กล่าวว่า การถอนธุรกิจออกจากพม่าเป็นความตั้งใจของบริษัทอยู่แล้ว หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ก่อให้เกิดจลาจล การลุกฮือของประชาชนและชนกลุ่มน้อย และการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้พม่าต้องเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทางบริษัทจึงขอถอนธุรกิจออกจากพม่าอย่างเป็นระเบียบตามขั้นตอนที่ควบคุมได้

โครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา แต่เริ่มเดิมทีเป็นการร่วมทุนของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท ได้แก่ Total Energies ของฝรั่งเศส และ Chevron ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ปตท. สผ. ของไทย และ MOGE ของรัฐบาลพม่า ในสัดส่วนผู้ถือหุ้น Total Energies (31.2%), Chevron (28.3%), ปตท (25.5%) และ MOGE (15%) ตามลำดับ 

แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สามารถผลิตก๊าซได้ราว 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ 70% ส่งขายในประเทศไทย ส่วนอีก 30% เป็นของ MOGE ในการจัดจำหน่ายพลังงานในประเทศ 

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2564 คณะรัฐประหารที่นำโดย ผู้นำทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ได้เข้าควบคุมกิจการ MOGE อันเป็นสาเหตุให้บริษัทพลังงานจากชาติตะวันตกถูกกดดันให้ถอนทุนออกจากธุรกิจพลังงานในพม่า เนื่องจาก MOGE กลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงรัฐบาลทหารพม่า และต่อมา โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทเอกชนของอเมริกันทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ กับ MOGE เพื่อตัดวงจรท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพพม่า

ด้วยเหตุนี้ Total Energies จึงตัดสินใจถอนทุนออกจากโครงการยาดานา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 โดย ปตท.สผ. ก็เป็นผู้รับช่วงถือครองหุ้น ของ Total Energies ในเวลาต่อมา 

ด้าน Chevron ก็ได้ประกาศแผนถอนทุนออกจากกิจการพลังงานในพม่าเช่นเดียวกัน และตัดสินใจที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่ยังเหลืออยู่ คือ ปตท.สผ. และ MOGE

ล่าสุด มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายถึงประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการยานาดา ที่เป็นผลจากบริษัทในเครือ Chevron ตัดสินใจถอนการลงทุน และประสงค์ที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ ทำให้ ปตท.สผ. จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 62.9630 ในโครงการยาดานา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจถอนทุนของบริษัท Chevron พม่า และสถานการณ์ของบริษัทเอกชนแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพม่า แต่ยังคงจุดยืนแน่วแน่ในการกดดันรัฐบาลพม่า รวมถึงกิจการภายใต้การควบคุมของรัฐให้อ่อนแอลง และสนับสนุนการต่อสู้ของรัฐบาลพลเรือนในพม่า 

สังคมเกาหลีเดือด กระแส 4B Movement ลาม ทำอัตราเด็กแรกเกิดเกาหลีใต้ต่ำที่สุดในโลก

ขบวนการสตรีนิยม (กลุ่ม เฟมินิสต์) ในเกาหลีใต้ กำลังตกเป็นจำเลยสังคมเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราเด็กแรกเกิดน้อยที่สุดในโลก เนื่องจากจุดกระแส 4B Movement ที่ให้ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาปฏิเสธการแต่งงาน และการมีลูก 

กระแส 4B Movement ย่อมาจากแนวทางการปฏิเสธบรรทัดฐานของสังคมต่อผู้หญิง 4 ประการของเกาหลีใต้ได้แก่...

- Bihon (非婚) - ปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชาย
- Bichulsan (非出産) - ปฏิเสธการมีลูก
- Biyeonae (非戀愛) - ปฏิเสธการดูตัวกับผู้ชาย
- Bisekseu ( 非sex) - ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย 

โดยกระแส 4B Movement เริ่มเกิดขึ้นราวๆ ปี 2019 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 'คิมจียอง เกิดปี 82' นิยายแนวเฟมินิสม์ เรื่องดังของเกาหลีใต้ ของ 'โช นัม-จู' ที่มียอดจำหน่ายสูงกว่า 1 ล้านเล่ม ต่อมาถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดยดาราชื่อดังระดับแถวหน้าของเกาหลีใต้อย่าง ช็อง ยู-มี และกงยู มาแล้ว 

และเคยเป็นนิยายที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่ม 'ชายแท้' และ 'กลุ่มอนุรักษ์นิยม' ในเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ถึงกับประกาศบอยคอดนักแสดงหญิงทุกคนที่อ่านนิยายเล่มนี้ออกสื่อ หรือจะไม่ยอมแต่งงานกับผู้หญิงที่เคยอ่านนิยายเล่มนี้โดยเด็ดขาด 

แต่ในขณะเดียวกัน นิยายเล่มนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ชื่นชมอย่างถล่มทลายจากนักวิจารณ์วรรณกรรม และ กลุ่มนักอ่านผู้หญิง และเป็นต้นกำเนิดของกระแส 4B Movement ของกลุ่มสตรีนิยมสุดโต่งในเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา ที่คาดว่าน่าจะสมาชิกราวๆ 5 พัน - 5 หมื่นคนทั่วประเทศ

แม้จะมีเคลื่อนไหวในกลุ่มสตรีนิยมของเกาหลีใต้มานานหลายปีแล้ว แต่อยู่ดีๆ ก็มีการพูดถึงกระแส 4B ขึ้นมาอีก เมื่อมียูทูปเบอร์ 2 สาวชื่อดัง จอง เซ-ยองและ แบ็ก ฮา-นา ได้แสดงความคิดเห็นของพวกเธอผ่านช่อง SOLOdarity ว่าการแต่งงานเป็น 'สาเหตุที่แท้จริงของระบบปิตาธิปไตย' หรือระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และ 2 สาวยูทูบเบอร์ยังสนับสนุนให้ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาปฏิเสธค่านิยมที่ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของผู้หญิงที่ฝังรกลึกมาแต่โบราณ รวมถึง การต้องแต่งงาน หรือ ต้องมีลูกให้ได้

จึงทำให้มีการหยิบประเด็นเรื่อง 4B กลับมาถกเถียงกันอย่างร้อนแรงใน Tiktok ของเกาหลีใต้อีกครั้งโดยดาว TikTok สาวชื่อ Jeanie ได้ออกมาวิจารณ์ว่า การปฏิเสธผู้ชายนั่นต่างหากที่อาจทำให้ผู้หญิงสูญพันธุ์ และเกาหลีก็จะสิ้นชาติ แต่ประเด็นคือ กระแส 4B เกิดจากการที่สังคมเกาหลีมีแนวคิดเหยียด และรังเกียจผู้หญิงมาตลอด จึงทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง และ บรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงเกาหลี

ซึ่งตอนนี้กระแส 4B ก็เริ่มลุกลามออกไปนอกเกาหลีแล้ว จากการแชร์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และกำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในโลกในปี 2023 ที่ผ่านมาด้วยอัตราเด็กแรกเกิดเพียง 0.78 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 2.3 และสอดคล้องกับผลสำรวจความเห็นของผู้หญิงเกาหลีใต้ล่าสุด กว่า 65% ระบุว่าไม่ต้องการมีลูก

สื่อเกาหลีใต้ชี้ว่า กระแส 4B ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการตอบโต้ของผู้หญิงเกาหลี ต่อความรุนแรงในสังคมที่ผู้หญิงมักเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำ อาทิ คดีฆาตกรรมหญิงสาวในห้องน้ำสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ โดยชายหนุ่มที่อ้างว่าโกรธแค้นเพราะฝ่ายหญิงหมางเมิน ไม่สนใจเขา 

อย่างไรก็ตาม กระแส 4B Movement ก็ยังถือว่าเป็นเพียงกลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ ในเกาหลีใต้เท่านั้น ไม่อาจระบุว่าเป็นตัวแทนกลุ่มประชากรหญิงของเกาหลีใต้ทั้งหมดได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้มีเด็กเกิดน้อย หรือ ผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงาน หรือ ไม่อยากมีลูก ไม่ได้เกิดจากกระแสเรื่อง 4B Movement เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาเรื่องปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการช่วยเหลือของรัฐบาล หรือค่านิยมโดยรวมที่เปลี่ยนไปของคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ด้วย 

เพราะเรื่องของหัวใจ และ ความรักระหว่างหญิง-ชาย กับ ความพร้อมในการดูแลลูกนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน 

 

ชาว X ลือสนั่น!! มือเผาอัลกุรอาน เป็นศพในนอร์เวย์ ด้านชาวเน็ตสงสัย หรือเก็บตัวเงียบรอเผาคัมภีร์ออกสื่ออีกครั้ง

ข่าวลือสนั่นโลกโซเชียลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือข่าวการเสียชีวิตของ นาย ซาลวัน โมมิกา ชายชาวอิรัก ผู้ลี้ภัยในสวีเดน ที่ก่อเหตุหยามหัวใจชาวโลกอิสลามด้วยการประท้วง เผาคัมภีร์อัลกุรอานออกสื่อ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านศาสนาอิสลาม และเชิดชูสิทธิเสรีภาพทางการพูด 

แต่เมื่อวันอังคาร (2 เม.ย.67) ที่ผ่านมาสำนักข่าวในโซเชียลต่างออกมาแชร์ข้อมูลว่า พบนายซาลวัน โมมิกา เสียชีวิตแล้วในประเทศนอร์เวย์ ที่เขาเพิ่งทำเรื่องลี้ภัยจากสวีเดน เนื่องจากถูกกดดันจากทางการสวีเดนที่กำลังดำเนินการเนรเทศเขาออกนอกประเทศจากการเคลื่อนไหวที่สร้างความโกรธแค้นจากสังคมอิสลามอย่างมากเป็นวงกว้าง 

แม้ในตอนนี้ยังไม่มีข่าวยืนยันอย่างเป็นทางการจากนอร์เวย์ว่า นาย ซาลวัน โมมิกา เสียชีวิตจริงตามข่าวหรือไม่ แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากเจ้าตัว ทั้งการปรากฏตัวในที่สาธารณะ และ ในโซเชียล เพื่อเป็นการสยบข่าวลือว่าตัวเขายังมีชีวิตอยู่แต่อย่างใด 

ดังนั้น การหายตัวไปของ ซาลวัน โมมิกา มือเผาอัลกุรอาน ยังคงเป็นปริศนา

ซาลวัน โมมิกา ปัจจุบันวัย 37 ปี เป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านอิสลามชาวอิรัก แต่เดิมระบุว่าตนเป็นชาวคริสเตียน เนื่องจากเกิดในครอบครัวชาวคริสต์ในอิรัก ต่อมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธ Popular Mobilization Forces ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่าน เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย ISIS และต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ในพื้นที่ 

แต่ทว่า ซาลวัน โมมิกา มีทัศนคติที่ต่อต้านศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง ทำให้เขาอยู่ในอิรักไม่ได้ ในปี 2018 จึงทำเรื่องลี้ภัยมาอยู่ในสวีเดน และประกาศตนเป็นนักเสรีนิยมผู้ไร้ศาสนา แต่สื่อหลายสำนักให้คำจำกัดความเขาว่าเป็นกลุ่มต่อต้านอิสลามหัวรุนแรง 

เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของนาย ซาลวัน โมมิกา กลายเป็นที่รู้จักอย่างมาก คือการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน หน้าสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวมุสลิมทั้งในสวีเดน และทั่วโลก จนถึงกับมีการรวมกลุ่มประท้วงที่หน้าสถานทูตสวีเดนในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดนส่งตัวนาย ซาลวัน โมมิกา กลับมาลงโทษในข้อหาดูหมิ่นศาสนา 

แต่นั่นไม่อาจหยุดการกระทำของซาลวัน โมมิกา ได้ เขาได้เผาคัมภีร์อัลกุรอาน โชว์ออกสื่ออีกหลายครั้ง รวมทั้งแสดงการดูหมิ่นด้วยการเหยียบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ฉีก ทำลายหนังสือ หรือละเลงเนื้อเบคอนลงบนอัลกุรอาน  

ถึงแม้ว่าสวีเดนจะเป็นประเทศเสรี แต่ก็ใช่ว่าชาวสวีเดนจะเห็นชอบกับสิ่งที่ซาลวัน โมมิกา ทำ ที่แสดงถึงการคุกคามศรัทธาและความเชื่อของคนอื่น อีกทั้งยังสร้างความวุ่นวาย ชักศึกเข้าบ้าน ที่ทำให้ชาวสวีเดนส่วนใหญ่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นผลให้รัฐบาลสวีเดนเพิกถอนสิทธิ์ผู้ลี้ภัยของเขาในเวลาต่อมา และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาส่งตัวนาย ซาลวัน โมมิกา ไปยังประเทศที่ 3 ที่ไม่ใช่อิรัก 

ซึ่งล่าสุด ซาลวัน โมมิกา เพิ่งออกมาโพสต์ใน X เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 67 ที่ผ่านมาว่าตัวเขาได้เดินทางออกจากสวีเดน ไปลี้ภัยในประเทศนอร์เวย์เรียบร้อยแล้ว โดยได้ยื่นคำร้องขอสิทธิ์คุ้มครองผู้ลี้ภัยที่นั่น เนื่องจากรัฐบาลสวีเดนไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยที่เป็นนักปรัชญา และ นักคิดผู้มีปัญญา แต่กลับไปรับผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ก่อการร้ายแทน อีกทั้งกล่าวหารัฐบาลสวีเดนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของชาวสวีเดนที่แท้จริง และยืนยันจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอุดมการณ์อิสลามต่อไป แม้จะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม

ซึ่งนั้นเป็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีข่าวลือสะพัดว่าพบตัวนาย ซาลวัน โมมิกา กลายเป็นศพซะแล้ว ในนอร์เวย์ 

แต่เรื่องทั้งหมดยังคงเป็นเพียงข่าวลือ เมื่อสื่อต่างประเทศได้สอบถามไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ สำนักงานตำรวจในนอร์เวย์ ก็ยังไม่พบข้อมูลผู้เสียชีวิตที่มีชื่อว่า ซาลวัน โมมิกา แต่อย่างใด 

ดังนั้น ข่าวลือของชาว X อาจเป็นเพียงการเล่นตลกในเทศกาลวันโกหก หรือเป็นการสาปส่งล่วงหน้า ในช่วง ซาลวัน โมมิกา ยังต้องเก็บตัวเงียบเพื่อรอการพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยในนอร์เวย์ หรือเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง จนกว่าจะพร้อมเผาคัมภีร์ออกสื่ออีกครั้ง 

'จีน' วัดพลังเจ้าเวหา คลอดเครื่องบินพาณิชย์ Made in China  ไม่หวั่น 'Airbus-Boeing' แม้ตอนนี้จะยังช่วงชิงส่วนแบ่งยาก

จีนเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์ Made in China แท้ ๆ รุ่น C919 ของบริษัท COMAC (Commercial Aircraft Corporation of China) ผู้พัฒนาอากาศยานเชิงพาณิชย์ของรัฐบาลจีน ในงาน Singapore Airshow 2024 ที่ผ่านมา เป็นงานจัดแสดงอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี และปีนี้เป็นการจัดงานครั้งแรกหลังผ่านพ้นวิกฤติการระบาด Covid-19 

โดยจีนได้ส่ง เครื่องบินพาณิชย์ของ COMAC รุ่น C919 มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเครื่องบินขนส่งพาณิชย์ของจีน ที่พร้อมตีตลาดคู่แข่งยักษ์ใหญ่ตลอดกาลอย่าง บริษัท Airbus ในรุ่นขายดี A320 และ Boeing ในรุ่น 737 MAX 

COMAC - C919 เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ระยะบินใกล้ถึงปานกลาง ในระยะทางไม่เกิน 3,600 ไมล์ (5,644 กิโลเมตร) สามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 192 คน เหมาะกับเที่ยวบินระยะสั้น ภายในประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองการใช้งานอย่างเป็นทางการจากสำนักงานการบินพลเรือนของจีนแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 

ปัจจุบัน เครื่องบินรุ่น C919 เริ่มให้บริการผู้โดยสารแล้วโดยสายการบิน China Eastern เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 นอกจากนี้ยังมีสายการบินทิเบต แอร์ไลน์ ที่ได้สั่งซื้อเครื่องบิน C919 แล้วจำนวน 40 ลำแล้วเช่นกัน

ถึงแม้ว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องบินพาณิชย์ COMAC จะยังคงจำกัดอยู่ในประเทศจีน แต่การเปิดตัวเครื่องรุ่น C919 ในงาน Singapore Air Show ในปีนี้เป็นครั้งแรก เป็นการประกาศถึงความพร้อมของจีน ที่ต้องการตีตลาดเครื่องบินพาณิชย์ ที่เคยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดอยู่เพียง 2 บริษัทคือ Airbus และ Boeing โดยจีนเล็งไปที่ตลาดที่ธุรกิจการบินกำลังกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลัง Covid-19 และอยู่ไม่ห่างจากจีนมากนั้น นั้นก็คือ ย่านอาเซียน

แม้นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจการบินมองว่า เครื่องบินพาณิชย์สัญชาติจีนยังแข่งขัน แย่งชิงส่วนแบ่งของ 2 เจ้าตลาดโลกได้ยากมากในเวลานี้ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยในอนาคต เมื่อดูจากผลตอบรับในงาน Singapore Air Show เครื่องบินจีนได้รับความสนใจอย่างมาก การออกแบบตัวเครื่องทำได้ดี บินได้นิ่ง และเงียบ 

ส่วนด้านเทคนิค ภายในตัวเครื่อง C919 กว่าครึ่งยังใช้เครื่องยนต์นำเข้าของ CFM International บริษัทผู้พัฒนาเครื่องยนต์อากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีศักยภาพเทียบชั้นได้กับเครื่องยนต์ของ Airbus และ Boeing เช่นกัน 

และด้วยสถานการณ์ของเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 ที่ถูกสั่งห้ามบินในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคกับเครื่องของสายการบิน Alaska Airlines ที่เป็นรุ่นคู่แข่งโดยตรงของ C919 ก็ถือเป็นโอกาสการเข้าทำตลาดของเครื่องบินน้องใหม่สัญชาติจีนลำนี้ 

และหลังจากงาน Singapore Air Show แล้ว COMAC วางแผนที่จะลุยตลาดต่อในประเทศเวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้ชิดทางการค้ากับจีน และมีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าตลาดการบินในย่านนี้จะโตขึ้นได้อีกอย่างรวดเร็ว 

แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ COMAC ไม่ได้ต้องการขายเครื่องบินราคาถูก เพื่อตัดราคาในท้องตลาด โดย C919 ตั้งราคาไว้ที่ลำละ 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแทบไม่ต่างจากราคาเครื่องบินของ Airbus หรือ Boeing ในรุ่นใกล้เคียงกันเลย เพียงแต่สิ่งที่ COMAC คำนึงในตอนนี้คือ คุณภาพการให้บริการแบบจัดเต็ม ระบบซ่อมบำรุง ฝึกอบรม และอื่น ๆ ที่มาในแพ็กเกจ พร้อมข้อเสนอราคาพิเศษเมื่อซื้อล็อตใหญ่ตั้งแต่ 40 ลำขึ้นไป อีกทั้งยังเป็นการทดลองเปิดตลาดต่างประเทศ ที่ทางจีนไม่ได้คาดหวังในการทำกำไรทันทีในรุ่นนี้ 

และหากพิจารณาจากโอกาสในการเติบโตของเครื่องบินจีน ประเทศที่มีธุรกิจการบินในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหรัฐฯ รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเครื่องยนต์พาณิชย์ของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาเครื่องยนต์จากประเทศตะวันตกอย่างจริงจัง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับเทคโนโลยีด้านการบินของตนให้สามารถแข่งขันกับเครื่องบินของชาติตะวันตกได้อย่างทัดเทียมกันในอนาคตอันใกล้ อย่างที่จีนเคยทำได้ในตลาดสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ มาแล้ว 

ดังนั้น อนาคตธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ของจีนนั้น คงไม่จบแค่บทเดียว แต่ต้องจับตามองกันต่อในระยะยาว ถ้าจีนไม่ถอดใจไปเสียก่อน

รัฐบาลทหารพม่าไม่หวั่น!! เดินหน้าจัดงานวันกองทัพ ย้ายฤกษ์สวนสนามจาก 'รุ่งอรุณ' เป็น 'อาทิตย์อัสดง'

กองทัพพม่า ยังเดินหน้าจัดงานสวนสนามครั้งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองวันกองทัพ ที่ตรงกับวันที่ 27 มีนาคมของทุกปี ในกรุงเนปิดอว์ ท่ามกลางเสียงนักวิจารณ์ที่ตั้งข้อสงสัยถึงกำลังพลในกองทัพพม่าว่ายังเหลืออยู่เท่าไหร่ หลังถูกกดดันอย่างหนักจากกองกำลังฝ่ายกบฏและถูกมองว่ากองทัพพม่าอยู่ในยุคที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยในปีนี้ กองทัพพม่ายังคงจัดงานฉลองวันกองทัพตามปกติ และ นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายกรัฐมนตรีพม่า จะยังเข้าร่วมเป็นประธานในพิธี แม้กองทัพพม่ากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สูญเสียดินแดนจำนวนมากให้กองทัพชาติพันธุ์ เป็นเหตุให้เกิดกระแสขับไล่นายพล มิน อ่อง หล่าย อย่างกว้างขวางแม้ในแวดวงกลุ่มคนสีเขียวก็ตาม

และการจัดงานสวนสนามในปีนี้ มีความพิเศษกว่าทุกปี ที่มักจัดขึ้นในช่วงเช้า ซึ่งปีนี้ รัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนมาจัดพิธีสวนสนามในช่วงเย็น โดยอ้างเหตุปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ช่วงเช้าอากาศร้อนเกินไป จึงเลือกมาจัดงานในตอนเย็น ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะช่วยให้การแสดงการบินของกองทัพอากาศมีความตระการตามากขึ้นด้วย

ด้านสำนักข่าวอิรวดี สื่อพม่า ชี้ว่า กองทัพพม่าบรรจงเลือกช่วงเริ่มพิธี ในเวลา 17.15 น. หรือ 5 โมง 15 นาที ตามแนวพิธีกรรมไสยเวทย์ ที่เลือกฤกษ์เวลาที่ประกอบด้วยตัวเลข 3 หลัก คือ 5, 5 และ 1 (5.15 PM) ที่รวมกันแล้วได้ 11 ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงภยันตราย 11 ประการ ตามความเชื่อดั้งเดิมของพม่า  รวมถึงการเปลี่ยนช่วงเวลาพาเหรดมาเป็นช่วงเย็นเพราะเชื่อว่าดวงอาทิตย์จะไม่ตกใส่กองทัพพม่า 

แต่บรรยากาศในงานพาเหรดที่มีเป้าหมายเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพในปีนี้ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นวันกองทัพครั้งแรกหลังจากที่รัฐบาลพม่า เพลี่ยงพล้ำให้กับกองทัพชาติพันธุ์ติดอาวุธ หลังปฏิบัติการ 1027

โดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ อันประกอบด้วยกองกำลัง โกก้าง, ตะอ่าง และ อารกัน ได้รวมกลุ่มโจมตีกองกำลังพม่าอย่างฉับพลัน ในแผนปฏิบัติการ 1027 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ทำให้กองทัพพม่าสูญเสียฐานที่มั่นในพื้นที่เขตปกครองชาติพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด ต้องถอยมาปักหลักในเมืองศูนย์กลางที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์

ความเสียหายหลังถูกโจมตีโดยปฏิบัติการ 1027 ได้สะท้อนความอ่อนแอภายในกองทัพพม่าอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานานหลายปี กลายเป็นแรงกดดันพุ่งสู่ นายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นผู้นำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า และกระแสเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง  

และความระส่ำระสายนี้ ทำให้รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องออกกฎหมาย เรียกระดมพลเพิ่ม โดยอนุญาตให้เรียกผู้ชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปีเข้าประจำการเป็นเวลา 2 ปี ทำให้คนหนุ่มสาวในพม่าจำนวนมากพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจุดหมายแรกของชาวพม่าที่เข้าเกณฑ์ถูกหมายเรียกคือประเทศไทย ที่มีชาวพม่าแห่ขอวีซ่าที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น งานสวนสนามประจำปีในวันกองทัพพม่าในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกองทัพพม่าเหมือนอย่างที่แล้วมา แต่เป็นเหมือนการเรียกขวัญ กำลังใจทหารในกองทัพในยามสิ้นหวัง และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายของนายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ต้องพยายามรักษาแสงอาทิตย์ของเขาไว้ให้ได้ แม้ต้องยืนในยามอาทิตย์ใกล้อัสดงก็ตาม 

ฟองสบู่ Forest City เมืองใหม่แห่งอนาคตในมาเลเซีย โครงการยักษ์ 3.6 แสนล้าน ที่กำลังกลายเป็นเมืองร้าง

หากนับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย น่าจะตื่นเต้นกับโครงการพัฒนาเมืองใหม่ ระดับเมกะโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘Forest City’ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัท เอสพลานาด แดงกา 88 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และ ‘คันทรี การ์เดน’ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ ของจีน ในเขตพื้นที่ของรัฐยะโฮร์ ที่เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ด้วยงบประมาณก่อสร้างสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) 

โดยโครงการนี้ ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกราวๆ ปี พ.ศ. 2549 ที่หวังจะให้เป็นส่วนหนึ่งในแผน Belt and Road Initiatives มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่ในเขตรัฐยะโฮร์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ครบครันด้วย อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถรองรับประชากรได้ถึง 7 แสนคน 

และยังเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ บริษัท คันทรี การ์เดน อีกด้วย หลังจากมีการนำเสนอ โครงการมานานถึง 10 ปี Forest City ก็ได้รับการอนุมัติก่อสร้างโดย อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2578 

แต่ทว่า วันนี้ Forest City ที่ผู้สร้างโปรโมตว่าจะกลายเป็นเมืองสวรรค์ในฝันของคนมีอันจะกิน มีแววจะกลายเป็นเมืองร้าง (Ghost Town) ไปเสียแล้ว เมื่ออาคารหลายแห่งสร้างแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง แต่กลับมีคนที่มาอยู่จริงน้อยมาก 

วันนี้เราจึงเห็นแต่ภาพตึกสูงระฟ้า เรียงรายเต็มพื้นที่หน้าชายหาด ยาวเหยียดเป็นกิโลของ Forest City ที่ถูกทิ้งร้าง มืดมิด เงียบเหงา ไร้ผู้คน และรถรา นอกจากเสียงจิ้งหรีดเรไรดังสนั่นทั่วบริเวณ

ชาวมาเลเซียบางส่วน ที่เข้ามาจับจอง ซื้อห้องพักใน Forest City ในช่วงเปิดโครงการด้วยความหวังว่าจะได้อยู่ในย่านสังคมเมืองใหม่อนาคตไกล ต่างรู้สึกผิดหวัง และ ต้องการย้ายออกเพราะเริ่มไม่ไหวจะทนกับบรรยากาศอันแสนวังเวง ถ้าจะมีข้อดีเพียงอย่างเดียวใน Forest City ณ ขณะนี้ คือ ความเงียบสงบสำหรับคนที่ต้องการปลีกวิเวกอย่างแท้จริง

สาเหตุที่โครงการยักษ์ Forest City ผิดเป้าค่อนข้างไกล แถมมีโอกาสที่จะกลายเป็นเมืองผีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น เกิดจากหลายปัจจัย 

และสิ่งที่ประเมินพลาดที่สุดอย่างแรกคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงเปิดโครงการ ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีฐานะตั้งแต่ระดับกลาง - สูง เป็นหลัก ที่กำลังมองหาสินทรัพย์ลงทุนในต่างแดน แทนที่จะเป็นชาวมาเลเซียทั่วไป จึงทำให้โครงการนี้ถูกวิพากษ์ วิจารณ์จากชาวมาเลเซียจำนวนมากว่าเป็นการสร้างเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนจีนเป็นสำคัญมากกว่าชาวมาเลเซียเจ้าของประเทศ 

เมื่อเน้นไปที่ตลาดจีน โครงการนี้จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายปิดเมืองนานนับปี ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังถดถอยหลังวิกฤติการระบาด จึงทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของ Forest City ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างที่คาดการณ์ไว้

อีกทั้งปัญหาด้านการเงินของ บริษัทคันทรี การ์เดน ที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลักในโครงการนี้ จากวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนทั่วไปที่กำลังพิจารณาเช่า-ซื้อ ทรัพย์สินในโครงการ Forest City กับอนาคตที่คาดเดาได้ยากว่า คันทรี การ์เดน จะกลับมาฟื้นสภาพ รอดพ้นจากภาวะหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตนได้เมื่อไหร่ 

รวมถึงปัจจัยด้านกำลังซื้อของชาวจีนที่ไม่เหมือนเดิม จากที่ประเมินในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 ทำให้ Forest City จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธการตลาดหลายครั้ง จากการสร้างเมืองใหม่เพื่ออยู่อาศัยของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำ ที่เน้นไปที่เศรษฐีชาวจีนเป็นหลัก ถูกเปลี่ยนมาเป็นเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนชายทะเลระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวจีน และ มาเลเซีย ซึ่งสามารถกระตุ้นยอดจองโรงแรม ที่พักในเมืองได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถลบล้างภาพเมืองร้างขนาดมหึหาออกไปได้

ล่าสุด เมื่อ สิงหาคม 2566 นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ก็ออกมาช่วยสนับสนุนโครงการ Forest City อีกครั้งด้วยการประกาศยกระดับพื้นที่เมืองนี้ให้กลายเป็น ‘เขตการเงินพิเศษ’ เพื่อจูงใจนักลงทุนด้านการเงิน และ แรงงานทักษะสูงเข้ามาช่วยกู้เมือง โดยมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านวีซ่า และ ภาษีในอัตราพิเศษ และยังสนับสนุนให้มีการจัดงานอีเวนต์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยหวังที่จะปลุกเมืองนี้ให้กลับมาเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ให้สมกับเป้าหมายและเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วมากมายมหาศาล

ดังคำกล่าวที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน โปรเจกต์ 20 ปี อย่าง Forest City ก็เช่นกัน ที่อาจต้องใช้เวลาต่อจากนี้อีกสักระยะ ว่าเมืองแห่งนี้ จะกลายเป็นเมืองใหม่ของมนุษย์ หรือ เป็นจะเพียงสุสานของซากตึก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top